ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของสารต้นแบบของการพัฒนายาเพื่อป้องกันและรักษาโรค เช่น สารออกฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์ ลดความดันโลหิตสูง ต้านการอักเสบ ลดเบาหวาน เป็นต้น สารออกฤทธิ์เหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพสูงซึ่งสมควรที่จะทำวิจัยลงลึกเพื่อให้ได้สารที่จะนำไปทดสอบทางยา (drug candidate) และนำไปทดลองทางคลินิกต่อไปในอนาคต ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคของงานวิจัยในประเทศไทยคือการขาดนักวิจัยที่เชี่ยวชาญในขั้นตอนต่างๆ และขาดการทำงานวิจัยเป็นเครือข่ายที่ชัดเจน จากกรณีศึกษาของประเทศจีนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาการแพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine) พบว่าประเทศจีนได้ทำการวิจัยและพัฒนายาโดยมีมหาวิทยาลัยเป็นผู้นำในการวิจัยตั้งแต่การวิจัยพื้นฐานและมีการประสานงานกับหน่วยงานหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องพัฒนายา หรือมีความร่วมมือกับบริษัทยาทั้งในและต่างประเทศเพื่อผลิตยา ทำให้ประเทศจีนสามารถลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศได้ระดับหนึ่งและยังสามารถส่งยาออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้อีกด้วย
ฝ่ายวิชาการ สกว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายงานวิจัยระดับนานาชาติและการสร้างพันธมิตรวิจัยเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการยกระดับความเข้มแข็งทางวิชาการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สกว. จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ National Natural Science Foundation of China (NSFC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา โดยมุ่งหวังที่จะใช้กลไกความร่วมมือนี้ในการผลักดันงานวิจัยที่เกี่ยวกับสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย (Traditional Thai Medicine) โดยสนับสนุนการวิจัยแบบบูรณาการจากหลากหลายสาขา เช่น งานวิจัยด้านเคมี เภสัชศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ และการแพทย์ เป็นต้น ฝ่ายวิชาการ สกว. ได้ริเริ่มให้มีทุนวิจัยแบบมุ่งเป้าด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการค้นพบยา โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจีน ซึ่งทำให้นักวิจัยไทยสามารถใช้ความเชี่ยวชาญที่ยังขาดอยู่จากนักวิจัยจีนได้ การสนับสนุนโครงการที่ผ่านมาได้มีการค้นพบสารต้นแบบหลายสาร รวมทั้งสารที่ฤทธิ์ยับยั้งหรือรักษาโรคเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ทั้งนี้ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนี้ ฝ่ายวิชาการ สกว. และ NSFC ได้จัดให้มี Thailand-China Joint Workshop for Natural Products and Drug Discovery เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาตินำเสนอผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยในโจทย์ที่เป็นความสนใจร่วมกันด้วย สำหรับทิศทางระดับประเทศปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้จัดทำพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นการเฉพาะ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเป็นระบบและครบวงจรซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0
เพื่อให้ความร่วมมือในการสนับสนุนทุนวิจัยระหว่าง สกว. และ NSFC มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นและขยายความร่วมมือไปยังโจทย์วิจัยด้านอื่นที่เป็นความต้องการของประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ สกว. และ NSFC จึงเห็นชอบร่วมกันที่จะสนับสนุนทุนวิจัยในปีงบประมาณ 2562 ภายใต้หัวข้อเรื่อง Natural Products for Drug Discovery (ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการค้นพบยาใหม่)
1. ขอบเขตของงานวิจัยที่ให้การสนับสนุน
ในปีงบประมาณ 2562 สกว. และ NSFC เห็นชอบร่วมกันที่จะสนับสนุนทุนวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับ Natural Products for Drug Discovery (ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการค้นพบยาใหม่) โดยให้ความสำคัญกับโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
2. ลักษณะโครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุน
2.3 ในการเลือกผู้ร่วมงานวิจัยจีน ควรเลือกให้สามารถเสริมและสนับสนุนงานวิจัยของโครงการร่วมได้เป็นอย่างดี เช่น นักวิจัยไทยเชี่ยวชาญทางด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ นักวิจัยจีนเชี่ยวชาญทางด้านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ ในกรณีที่มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างไทยและจีนในโครงการ ขอให้มีการแลกเปลี่ยนในจำนวนที่เหมาะสม เช่น ไม่เกินฝ่ายละ 3 คน เพื่อไม่ให้แต่ละฝ่ายมีภาระในการดูแลมากเกินไป
ทั้งนี้ สกว. จะให้การสนับสนุนทุนวิจัยเมื่อโครงการวิจัยนี้ผ่านการประเมินโดย สกว. และโครงการของหัวหน้าโครงการวิจัยร่วมได้รับการสนับสนุนจาก NSFC แล้ว
ทั้งนี้ผลงานวิจัยต้องไม่ถือเป็นความลับ ยกเว้นในกรณีที่จะมีการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร ทั้งนี้การตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้รับทุนสามารถนำไปตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในรูปแบบอื่นได้โดยขอให้ระบุแหล่งทุนสนับสนุนด้วยทุกครั้ง
3. คุณสมบัติของนักวิจัยหลัก (Principal Investigator, PI)
4. การประเมินข้อเสนอโครงการและกลไกในการติดตามประเมินผล
5. วงเงินทุนวิจัย ระยะเวลาดำเนินการและผลงานที่ได้จากโครงการ
งบประมาณโครงการ โครงการละไม่เกิน 5 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยแบ่งจ่ายเป็นราย 6 เดือน ซึ่งรวมค่าตอบแทนนักวิจัยหลักไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน โดยผู้รับทุนจะต้องมีผลงานตีพิมพ์จากโครงการอย่างน้อย 10 บทความ ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล ISI Web of Science (SCI) (สกว. สนับสนุนการตีพิมพ์ในควอไทล์ที่ 1 และ 2) และผลิตผลงานวิจัยที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
หากผู้สมัครขอรับทุนเป็นผู้ที่เคยรับทุนประเภทนี้มาแล้ว และมีผลงานของโครงการอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และข้อเสนอโครงการที่เสนอขอรับทุนใหม่ในครั้งนี้คาดว่าสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาสารออกฤทธิ์สำคัญที่พร้อมพัฒนาไปทดลองในสัตว์ทดลองได้ หรือการทดลองในระดับคลินิกต่อไป สามารถเสนอของบประมาณในวงเงินที่สูงเพิ่มขึ้นได้ตามความจำเป็น
สถาบันต้นสังกัดมีอิสระที่จะเพิ่มทุนได้ตามความเหมาะสม และอาจจะแสวงหาความช่วยเหลือเพื่อการนี้จากแหล่งทุนภายนอก
ทั้งนี้ผู้ให้ทุนมีสิทธิระงับการให้ทุนตามสัญญาหรือให้เงินอุดหนุนเพียงบางส่วนแก่ผู้รับทุนหรือหัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุน ในกรณีผู้ให้ทุนไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล
6. การทำสัญญารับทุน
สัญญารับทุนเป็นการร่วมลงนาม 3 ฝ่าย คือ ผู้ให้ทุน (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ผู้รับทุน (สถาบันต้นสังกัดของหัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุน) และหัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุน
7. เงื่อนไขต่อสถาบันต้นสังกัด
สถาบันต้นสังกัดจะไม่หักเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม (indirect or overhead cost) ใดๆ ทั้งสิ้น
8. การสมัครและกำหนดเวลาเสนอโครงการ
การสมัครขอให้ยื่นข้อเสนอโครงการในรูปแบบไฟล์ PDF มาทางอีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โดยมีรายละเอียดดังนี้
เปิดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562 หมดเขตรับข้อเสนอโครงการวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562
ประกาศ ณ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562
(ศ.นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ)
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ฝ่ายวิชาการ สกว.
โทรศัพท์ 0-2278-8254 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
➥ เอกสารประกาศและแบบฟอร์มสามารถดาวน์โหลดได้จากเอกสารแนบ (Attachments) ด้านล่างนี้